วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาในการประเมิน

ผู้เขียน นางกนกวรรณ แพไธสง
หากกล่าวถึง “ การประเมิน ” แล้ว บุคคลที่ปฏิบัติงานในหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน คงมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เนื่องจากในปัจจุบันการประเมินได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการในหน่วยงาน องค์กร ทั้งระบบราชการ ภาคธุรกิจ รวมถึงด้านการศึกษา อาจกล่าวได้ว่า โอกาสความสำเร็จของการบริหารจัดการองค์กรส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการประเมินขององค์กร หากองค์กรใดมีศักยภาพในการประเมินได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว การประเมินจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยในการขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กรเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพสูงสุด
นักการศึกษาและนักประเมินได้ให้นิยามของ “ การประเมิน ” ว่า “ การประเมินเป็นกระบวนการที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูล และตัดสินคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ โดยเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด ” เมื่อมีการดำเนินการประเมินอย่างเป็นระบบผลของการประเมินจะก่อให้เกิดข้อมูลสารสนเทศที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจ ถ้าผู้ประเมิน ผู้เกี่ยวข้องนำผลการประเมินไปใช้ จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการยกระดับพัฒนาคุณภาพของงานได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่หากไม่นำผลการประเมินไปใช้ข้อมูลสารสนเทศที่ได้มาจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดเลย
ปัจจุบันมีงานประเมินเกิดขึ้นมากมาย ทั้งมีคุณค่าและไม่มีคุณค่า หากลองย้อนกลับมาพิจารณาการประเมินที่เห็นกันอยู่ จะเห็นว่าการประเมินไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง บางครั้งการประเมินอาจถูกต่อต้าน ถูกวิจารณ์ หรือไม่ได้รับการยอมรับจากบุคคล องค์กรที่ถูกประเมิน อาจมีสาเหตุมาจากมีการประเมินกันตามกระแสนิยม ประเมินแบบเป็นพิธีการ ไม่ได้คาดหวังว่าจะนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ผู้ประเมินไม่ได้มีความรู้เพียงพอในการประเมิน หรือแม้กระทั่งมีการนำผลการประเมินไปเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง ก็อาจเป็นไปได้ จากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า บางครั้งการประเมินอาจไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ไม่เป็นการประเมินอย่างแท้จริง
ปัญหาที่พบเกี่ยวกับการประเมินโดยทั่ว ๆ ไป มีผู้เสนอไว้หลายประเด็น ในแต่ละประเด็นหากศึกษาเป็นข้อคิด ข้อเตือนใจสำหรับนักประเมิน จะทำให้เห็นแนวทางในพัฒนาสู่การประเมินที่ถูกต้อง ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง ประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น

ปัญหาเกี่ยวกับการวางแผนการบริหารและการจัดการประเมิน
การประเมินหากมุ่งหวังความสำเร็จให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการประเมิน การวางแผนในการประเมินจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าได้มีการวางแผนการบริหารและจัดการประเมินอย่างเป็นระบบและ เหมาะสม ผลการประเมินที่ได้รับจะถูกต้อง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง แต่ในความเป็นจริงการประเมินมักขาดการวางแผนและการจัดการที่ดี ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน ไม่สอดรับกันของการกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน บางครั้งวัตถุประสงค์เป็นนามธรรม ไม่สามารถวัดได้ในเชิงปริมาณ นักประเมินจึงควรมีการกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนเพื่อกำหนดทิศทางที่ถูกต้องของการประเมิน
ผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินก็มีความสำคัญไม่น้อย ผู้ประเมินที่ไม่มีความรู้ ขาดประสบการณ์ เทคนิคในการประเมิน มีอคติ ขาดจรรยาบรรณ มีการประเมินแบบเข้มงวด หรือผ่อนปรนมากเกินไป ก็เป็นอุปสรรคอีกทางหนึ่งที่ส่งผลกระทบถึงการประเมินเช่นกัน เพราะผู้ประเมินจะมีบทบาทในการตัดสินคุณค่าของสิ่งที่มุ่งประเมิน หากผู้ประเมินที่มีคุณลักษณะไม่เหมาะสม ไม่มีจรรยาบรรณพอ มีการโน้มเอียง มีส่วนได้ส่วนเสียในผลการประเมิน ผู้ประเมินอาจทำให้การจัดการ ระบบขั้นตอนการประเมิน ผลการประเมินแปรเปลี่ยนไป ไม่เป็นไปตามจริงหรือไม่มีคุณภาพ เช่น นำเสนอผลเฉพาะทางบวก ละเลยผลทางลบ บิดเบือนผลให้เป็นไปตามต้องการ ถูกครอบงำจากอำนาจการเมือง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาทั้งสิ้น แต่จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาบุคลากรทางด้านการประเมินให้มีความรู้ ความเข้าใจในศาสตร์ของการประเมินอย่างถ่องแท้ ตระหนักถึงความสำคัญ สร้างวัฒนธรรม จรรยาบรรณการเป็นนักประเมินที่ดี

ปัญหาการประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมิน
ก่อนการประเมินผู้ประเมินอาจจะต้องเลือกรูปแบบในการประเมิน เพื่อเป็นกรอบแนวคิดหรือแบบแผนในการประเมิน มีนักประเมินได้เสนอรูปแบบการประเมินในรูปแบบต่าง ๆ ไว้มากมาย นักประเมินหน้าใหม่ สามารถเลือกใช้รูปแบบที่มีความเหมาะสม แต่การใช้รูปแบบในการประเมิน ยังเป็นปัญหาอยู่ในเรื่องของการใช้รูปแบบที่ไม่ค่อยถูกต้องหรือเหมาะสมกับสิ่งที่ประเมิน ไม่มีเหตุผลในการเลือกรูปแบบนั้น ๆ บางคนเลือกรูปแบบที่เป็นที่นิยม โดยไม่ได้ดูความเหมาะสมของบริบทของสิ่งที่ประเมิน หรือวัตถุประสงค์การประเมินของตนเอง เพียงเพราะหาข้อมูลอ้างอิงง่าย ทำตามแบบอย่างโดยไม่รู้จริง ที่พบบ่อยคือ การประเมินโดยใช้ CIPP MODEL ของ Stufflebeam ซึ่งเป็นรูปแบบการประเมินที่นิยมเลือกใช้กันมาก อาจเป็นเพราะ CIPP MODEL เป็นรูปแบบที่ช่วยในการตัดสินใจรอบด้าน ถ้าประเมินตามขั้นตอนจะให้สารสนเทศในการตัดสินใจที่ดีเยี่ยม แต่การใช้ CIPP MODEL ในการประเมินงานทั้งที่งานนั้นสิ้นสุดไปแล้ว ทำการประเมินย้อนหลัง ล้วนผิดหลักการประเมินโดยใช้ CIPP MODEL ที่จะประเมินเป็นระยะ ๆ ขณะที่เริ่มงานหรือวางแผน กำลังดำเนินการอยู่จนถึงเสร็จสิ้น ฉะนั้นก่อนเลือกรูปแบบการประเมินผู้ประเมินจึงควรศึกษารายละเอียดของแต่ละรูปแบบให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน อย่างไรก็ตาม ในการประเมินไม่จำเป็นต้องยึดรูปแบบการประเมินเสมอไป อาจนำรูปแบบการประเมินมาประยุกต์ใช้ในบางส่วน นำหลาย ๆ รูปแบบมาประยุกต์รวมกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือ ขอให้มีความเหมาะสมกับสิ่งที่มุ่งประเมินและสามารถตอบคำถามการประเมินได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการประเมินส่วนหนึ่งที่ยกมานำเสนอ อย่างน้อยคงเป็นแนวทางให้ผู้ประเมินทั้งหลายได้เรียนรู้ เป็นข้อคิด ข้อเตือนใจและนำไปใช้พัฒนางานประเมินได้บ้าง ผู้ที่รักในงานประเมินทั้งหลาย เราคงต้องร่วมกันหาแนวทางการแก้ไข เพื่อยกระดับงานประเมินให้มีคุณค่า สู่การประเมินที่แท้จริง

เอกสารอ้างอิง
กาญจนา วัธนสุนทร (2551) “ สัมมนาการออกแบบเครื่องมือและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ” ใน ประมวลสาระชุดวิชา สัมมนาการ
ประเมินการศึกษา หน่วยที่ 4 หน้า 119 -157 นนทบุรี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิชาศึกษาศาสตร์
เตือนใจ เกตุษา (2551) “ สัมมนาการวางแผนการบริหารและการจัดการในการประเมิน ” ใน ประมวลสาระชุดวิชา สัมมนาการ
ประเมินการศึกษา หน่วยที่ 3 หน้า 93 – 116 นนทบุรี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิชาศึกษาศาสตร์
สมคิด พรมจุ้ย (2549) “ แนวคิดเกี่ยวกับการประเมินนโยบาย แผนงาน และโครงการ ” ในประมวลสาระชุดวิชา การประเมิน
นโยบาย แผนงานและโครงการ หน่วยที่ 3 หน้า 95–131 นนทบุรี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิชาศึกษาศาสตร์
สิริรัตน์ วิภาสศิลป์ (2551) “ สัมมนาปัญหาและทิศทางการประเมิน ” ใน ประมวลสาระชุดวิชา สัมมนาการประเมินการศึกษา
หน่วยที่ 2 หน้า 43 – 90 นนทบุรี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิชาศึกษาศาสตร์